Thursday, March 14, 2013

ยุคมืดธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์

http://www.thannews.th.com/index.php?option=com_content&view=article&id=100399&catid=90&Itemid=425


ยุคมืดธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์

พิมพ์
User Rating: / 1
แย่ดีที่สุด 
altธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ถูกมองว่าเป็นทางออกที่จะช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลของโลก แต่เวลานี้ผู้ประกอบการหลายรายในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์กำลังตกที่นั่งลำบาก จนบางรายถึงกับต้องปิดกิจการไป
 เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า การล้มละลาย ราคาหุ้นบริษัทตก และหนี้สินมูลค่ามหาศาล ก่อให้เกิดคำถามตามมาถึงความอยู่รอดของธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ที่นับตั้งแต่ยุคทศวรรษ ค.ศ. 1970 ถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นหนทางที่นำพาโลกเข้าสู่ยุคใหม่แห่งพลังงาน ความต้องการพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลกยังคงเติบโตขึ้น โดยจากการวิเคราะห์ของเจฟฟรีส์ กรุ๊ป ประเมินว่า ในปี 2554 มีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นทั่วโลก 8% อย่างไรก็ตามความต้องการในปี 2555 นี้ ได้รับการคาดหมายว่าจะคงที่
 สาเหตุสำคัญที่ทำให้ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ทรุดตัว คือ ราคาแผงเซลล์แสงอาทิตย์และส่วนประกอบ อาทิ โพลีซิลิโคน เวเฟอร์ เซลล์ รวมถึงตัวแผงเซลล์เอง ที่ลดต่ำลง ด้วยเหตุผลง่ายๆ นั่นคือ มีผู้ผลิตจำนวนมากเกินไปที่พยายามแข่งกันขายสินค้าของตนเอง
 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์อย่างน้อย 7 รายที่ยื่นล้มละลายหรือขาดความสามารถในการชำระหนี้ โดยในจำนวนดังกล่าวมีบริษัทสัญชาติเยอรมัน 2 ราย คือ บริษัท โซลาร์ มิลเลนเนียมฯ และบริษัท โซลอน เอสอีฯ รวมถึงกรณีของบริษัท โซลิดรา จากสหรัฐอเมริกา ที่พัวพันกับการถูกสอบสวนทางอาญาว่าฉ้อโกงรัฐบาลสหรัฐฯ หรือไม่
 ในจำนวน 10 อันดับบริษัทผลิตชิ้นส่วนสำหรับแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดตามมูลค่าในตลาด มีถึง 6 บริษัทที่รายงานผลประกอบการขาดทุนในไตรมาส 3 ของปี 2554 และมีเพียงบริษัทเดียวที่ทำรายได้ได้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ 6 ใน 10 บริษัทยังมีมูลค่าหนี้สูงกว่ามูลค่าบริษัทในตลาดอีกด้วย
 มีอีกหลายบริษัทในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีสถานการณ์การเงินที่ย่ำแย่ เช่น บริษัท เอเนอร์จี คอนเวอร์ชัน ดีไวเซส ของสหรัฐฯ ที่มูลค่าหุ้นตกฮวบลงถึง 95% ในปี 2554 และต้องหยุดการผลิต ยืดเวลาการชำระดอกเบี้ย และปรับโครงสร้างพนักงาน
 แม้แต่บริษัท เฟิสต์ โซลาร์ฯ ซึ่งเป็นผู้เล่นที่มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรม ก็ยังต้องปรับโครงสร้างเนื่องจากผลประกอบการที่อ่อนแอลง นายไมค์ อาเฮิร์น ประธานของเฟิสต์ โซลาร์ ยอมรับว่าอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์จะมีปัญหาเรื่องความกดดันของราคาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งหมายความว่าการถอนตัวของบริษัทผู้ผลิตบางรายออกจากตลาดจะเกิดขึ้นต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง "อุตสาหกรรมไม่สามารถรองรับผู้ผลิตเซลล์เกินกว่า 300 รายได้ ดังนั้นจะต้องมีบริษัทที่ยังคงเหลืออยู่ยอมแพ้และออกจากอุตสาหกรรมไป" นายเซงรง ชี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ซันเทค พาวเวอร์ โฮลดิงส์ฯ ผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์จากจีนให้ความเห็น ซันเทคลดค่าใช้จ่ายในการผลิตลงอย่างน้อย 20% ในปีหน้าด้วยความหวังว่าจะดึงมูลค่าหุ้นขึ้นจากที่ลดลง 70% ในปีนี้
 จำนวนผู้ผลิตที่มีมากเกินความต้องการเกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาทิ ความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการสนับสนุนเทคโนโลยีสะอาด นายทุนก้าวเข้ามาในอุตสาหกรรม และนักลงทุนกว้านซื้อหุ้นไอพีโอของบริษัทด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ท่ามกลางราคาน้ำมันที่พุ่งสูง และการตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลยุโรปก็ให้เงินอุดหนุนจำนวนมากสำหรับการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นการเพิ่มความต้องการในตลาดเพิ่มมากขึ้นอีก
 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ การตัดสินใจของรัฐบาลจีนให้ธนาคารภายในประเทศปล่อยกู้โดยไม่มีเงื่อนไขให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก นิว เอเนอร์จี ไฟแนนซ์ ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2551 ธนาคารจีนให้สินเชื่อเป็นมูลค่ารวมแล้วอย่างน้อย 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับบริษัทด้านพลังงานทดแทนสัญชาติจีน ซึ่งการเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายในเวลาที่การปล่อยสินเชื่อทั่วโลกมีไม่มากนัก ทำให้บริษัทจีนสามารถสร้างโรงงานและเริ่มเดินสายการผลิต บีบให้คู่แข่งในยุโรปและสหรัฐฯ ต้องทำตาม
 การผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์จำนวนมากส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างดุเดือด เมื่อปีก่อน ลูกค้าส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายแผงเซลล์และนักพัฒนาโครงการ สามารถซื้อแผงเซลล์แสงอาทิตย์ได้ในราคา 1.60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัตต์โดยเฉลี่ย แต่เวลานี้ราคาอยู่ที่ 90 เซ็นต์-1.05 ดอลลาร์ต่อวัตต์ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ กำลังสอบสวนคำร้องของผู้ผลิตชาวสหรัฐฯ ที่กล่าวหาว่ามีการทุ่มตลาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์จากผู้ผลิตชาวจีนในตลาดสหรัฐฯ

No comments:

Post a Comment