เปิดสัญญาก๊าซพม่า ไทยเสียเปรียบ? นักวิชาการหนุน smart grid

‘นพพร’ แนะระยะยาวใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ หนุนระบบ Smart Grid ระยะสั้นเสนอขอ ก.ศึกษา หยุดทำงานปิดเทอมช่วงวิกฤติไฟฟ้า ‘ชื่นชม’ เปิดสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ตั้งข้อสังเกตพม่าหยุดจ่ายก๊าซ ปตท.เคยร้องลดราคาซื้อก๊าซ 25 เปอร์เซ็นต์ มาลดค่าไฟไหม
 
จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และความหวั่นเกรงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากวิกฤตพลังงานในกรณีบริษัทผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาของพม่า แจ้งหยุดซ่อมบำรุงเนื่องจากปัญหาการทรุดตัวของแท่นผลิต ระหว่างวันที่ 5-13 เม.ย.2556
 
วันที่ 7 มี.ค.56 นพพร ลีปรีชานนท์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านการวางแผนระบบไฟฟ้าและนโยบายพลังงาน ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวในการเสวนา ‘วิกฤติพลังงาน ไทยจะประสบปัญหาไฟไม่พอใช้จริงหรือ?’ ระบุว่า ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงเกิดปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ในช่วงที่พม่าหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ
 
แม้รัฐบาลจะพยายามดำเนินการแก้ปัญหา ทั้งการปรับเชื่อเพลิงที่ใช้ในการผลิต หรือแม้จะได้รับความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมในการลดการใช้ไฟฟ้าลง เนื่องจากความสามารถในการผลิตไฟใกล้เคียงกับความต้องการใช้สูงสุด และยิ่งหากอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นก็ยิ่งมีความเสียง
 
อย่างไรก็ตาม นพพรแสดงความเห็นว่า อีกหน่วยหนึ่งของการใช้ไฟฟ้าที่สำคัญคือส่วนราชการอย่างกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศ พร้อมเสนอให้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงปิดภาคเรียน โดยขอความร่วมมือให้หยุดการทำงาน ในช่วงวันที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 1-3 วัน ซึ่งจะช่วยลดความต้องการในการใช้ไฟฟ้าลงได้อีก
 
 
ส่วนระยะยาว ไทยควรพิจารณาการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงที่หลากหลาย เช่นพลังงานหมุนเวียน ไม่ใช่เพียงแค่ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน หรือนิวเคลียร์ และอีกแนวทางหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญคือ การควบคุมความต้องการใช้ไฟฟ้า จากเดิมที่มีแต่คิดเปิดโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้ ซึ่งนั่นหมายความว่าจะต้องจัดหาพลังงานมาเพิ่มเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง การใช้เทคโนโลยี องค์ความรู้ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ซึ่งจะลดการใช้พลังงานลงไปได้
 
อีกทั้ง ในเรื่องระบบส่งไฟฟ้าซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่ง นพพร เสนอให้ส่งเสริมระบบ Smart Grid (โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ) ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร (TCT) มาบริหารจัดการ ควบคุมการผลิต ส่ง และจ่ายพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะสนองตอบต่อแนวคิดส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน โดยมีการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานเข้ามาในระบบมากขึ้น
 
ตรงนี้เมื่อร่วมกับการทำนโยบายส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนให้เป็นระบบจะส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตพลังงานหมุนเวียนลดลงในเวลาอันสั้น เพราะปัจจุบันมีราคาแพงเพราะคนใช้กันน้อย และทำให้ค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงจากฟอสซิลได้ในที่สุด แต่คำถามคือภาครัฐมองไกลขนาดไหน
 
นพพร กล่าวถึงข้อเสนอต่อมาว่า ควรมีการออกกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติที่ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนให้เข้ามาในระบบอย่างจริงจัง โดยตัวอย่างในประเทศมาเลเซียได้กฎหมายนี้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งส่งผลต่อภาคการผลิต การติดตั้ง การจ้างงาน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เกิดการลงทุนในกิจการใหม่ๆ รวมถึงเป็นประโยชน์ในระดับผู้บริโภคด้วย
 
 
แต่ประเทศไทยกลับไม่มีการพูดถึงพลังงานหมุนเวียนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพียงแต่ระบุไว้ในกฎหมายบางฉบับ ทั้งที่พระราชบัญญัติออกมากำกับเพื่อให้การดำเนินการเดินหน้าไปได้ ดังนั้นพลังงานหมุนเวียนที่ปัจจุบันกำหนดให้อยู่ในระบบ 25 เปอร์เซ็นต์ จึงมีอยู่จริงแค่ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์
 
“วิกฤติตรงนี้สามารถใช้ปรับ PDP ใหม่ให้สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น ใช้ปรับกำลังการผลิตสำรองด้วยดัชนที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงได้” นพพร กล่าว
 
ต่อข้อสังเกตที่ว่าการตีปี๊บวิกฤติพลังงานนั้นเพื่อผลักดันการใช้ถ่านหิน นพพร กล่าวว่า ส่วนตัวเขาไม่ได้คัดค้านเชื้อเพลิงถ่านหิน เพราะปัจจุบันมีการพูดถึงการใช้เทคโนโลยีสะอาด แต่ถ่านหินควรจะเป็นทางเลือกสุดท้ายในการดำเนินการ เนื่องจากยังมีทางเลือกอื่นๆ โดยเฉพาะการลดใช้ไฟฟ้าของทุกภาคส่วน ซึ่งจากงานศึกษาเกี่ยวกับแผนอนุรักษ์พลังงาน เมื่อดูเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบันและปริมาณการใช้ไฟ หากบริหารจัดการอย่างจริงจังจะลดการใช้ได้อีกไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์  
 
                                                         
ด้าน ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซ่น นักวิชาการอิสระ ผู้ช่วยวิจัยด้านการวางแผนระบบไฟฟ้าและนโยบายพลังงาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า ตามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระหว่าง ปตท. กับผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซยาดานา ระบุว่า การหยุดซ่อมแท่นขุดเจาะก๊าซฯ จะมีการกำหนดไว้ล่วงหน้าทุกปี ครั้งละไม่เกิน 15 วัน แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงจะต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 6 เดือน
 
อย่างไรก็ตาม ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหยุดซ่อมช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด และควรหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้กระทบความมั่นคงของระบบและเพิ่มภาระค่าไฟฟ้ามาขึ้น ทั้งนี้ ควรเลื่อนการซ่อมแซมมาอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ซึ่งมีความต้องการไฟฟ้าไม่สูง ต่างจากช่วงเดือนเมษายนที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงจากอากาศร้อน
 
นอกจากนี้ สัญญาดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ระหว่างการซ่อมแซมจะต้องจัดส่งก๊าซธรรมชาติไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณจัดส่งตามสัญญา และหากไม่สามารถนำส่งก๊าซฯ ได้ ก็มีบทลงโทษ คือ ฝ่าย ปตท.จะได้สิทธิ์ซื้อก๊าซฯ เฉพาะส่วนที่ขาดหายไปได้ภายหลังในราคาลดลง 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งที่ผ่านมา ปตท.ได้เรียกร้องสิทธิ์นี้และนำส่วนลดที่ได้มาช่วยลดค่าไฟหรือไม่ เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมาแหล่งก๊าซฯ ในพม่าหยุดเพื่อปิดซ่อมทุกปี
 
 
ชื่นชม กล่าวต่อมาถึงปัญหาของตัวเลขจำนวนการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งในการผลิตจริงกลับไม่ได้ตามนั้น ทำให้เกิดความคาดเคลื่อนในการรับรู้ข้อมูลปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ได้และปริมาณไฟฟ้าสำรองในระบบ โดยเสนอต่อสื่อมวลชนให้ติดตามข้อมูลจากศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า เขตบางกรวย ในวันที่ 5 เม.ย.56 ซึ่งจะทำให้ทราบสถานการณ์ผลิตที่แท้จริงของโรงไฟฟ้าแต่ละโรง เพื่อพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการรับทราบข้อเท็จจริงของข้อมูลทางพลังงาน