Thursday, January 17, 2013

บางจากเบรกลงทุนโซลาร์ฟาร์ม 2 หมื่นล.



บางจากเบรกลงทุนโซลาร์ฟาร์ม 2 หมื่นล.

    บางจากเบรกแผนลงทุนโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์มูลค่ากว่า 2.5 หมื่นล้าน หลัง"เฮียเพ้ง"ยังไม่ชัดเจนเปิดรับซื้อไฟฟ้าใหม่ หันซบเพื่อนบ้านแทน ลุยลงทุนให้ได้ตามเป้า 500 เมกะวัตต์
    ขณะที่สนพ.ชงฟีตอินทรารีฟโซลาร์เซลล์ 7 บาทต่อหน่วย อุดหนุนให้กับโรงไฟฟ้าชุมชน 800 เมกะวัตต์ วงในเผยเกิดได้ยากผลตอบแทนต่ำ ชุมชนไม่มีเงินร่วมลงทุน  
       นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" กรณีที่นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังไม่มีนโยบายชัดเจนในการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์ฟาร์ม) หลังจากหยุดรับซื้อไปเมื่อช่วงกลางปี 2553 เนื่องจากมีผู้เสนอขายไฟฟ้าเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 2 พันเมกะวัตต์   ทำให้บางจากต้องกลับมาทบทวนแผนการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่จากเดิมมีเป้าหมายที่จะลงทุนให้ได้ 500 เมกะวัตต์ภายในระยะเวลา 5 ปี ใช้เงินลงทุนเกือบ 4 หมื่นล้านบาทจากปัจจุบันที่มีแผนลงทุนแล้ว 170 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2556
    "จากนโยบายที่ไม่มีความชัดเจนนี้เอง ทำให้บางจากไม่สามารถวางแผนการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์ม  330 เมกะวัตต์ได้ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท จึงต้องชะลอแผนการลงทุนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพื่อรอดูว่ากระทรวงพลังงานจะมีนโยบายการส่งเสริมออกมาหรือไม่"
    อย่างไรก็ตาม บางจากยังมีความสนใจที่จะขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แต่หากภายในประเทศไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ ก็มีแผนที่จะออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน เพราะภายหลังประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีมีผลบังคับใช้ในปี 2558 ก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนในประเทศเพียงอย่างเดียว  หากกฎหมายเปิดโอกาสก็สามารถเข้าไปลงทุนได้ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตตามเป้าหมายได้
    "แม้บางจากชะลอโครงการขยายกำลังการผลิตโซลาร์เซลล์ออกไปก่อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิก ซึ่งยังมองโอกาสลงทุนในต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ยังตั้งเป้าที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในปั๊มที่จะสร้างใหม่ทุกแห่ง จากปัจจุบันติดตั้งไปแล้ว 2 แห่ง ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่มาก"
    แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ได้ศึกษาแนวทางสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง(ฟีตอินทรารีฟ) สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รับทราบแล้ว  เบื้องต้นฟีตอินทรารีฟของการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาและอาคารต่างๆ จะอยู่ที่ประมาณ 9-10 บาทต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์ฟาร์ม)อยู่ที่ 7 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 20 ปี ที่คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ได้ในเร็วๆนี้
    ทั้งนี้นายพงศ์ศักดิ์มีนโยบายที่จะใช้ฟีตอินทรารีฟ เข้าไปสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชนในปริมาณ 800 เมกะวัตต์ หลังจากที่ได้มีการกลั่นกรองใบอนุญาตที่หมดสัญญาหรือไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามระยะเวลาที่กำหนด จากที่มีการยื่นขอขายไฟฟ้ามากว่า 3 พันเมกะวัตต์ เหลือเพียง 1.2 พันเมกะวัตต์ เมื่อรวมกับการส่งเสริมรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบฟีตอินทรารีฟ จะทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 2 พันเมกะวัตต์ ภายในปี 2564
    ส่วนผู้ประกอบการที่ยื่นขอรับส่งเสริมรับซื้อไฟฟ้ามาแล้วในรูปแบบค่ารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มหรือ Adder ในอัตรา 6.50 บาทต่อหน่วย แต่กระทรวงพลังงานยังไม่มีการตอบรับการรับซื้ออีก 800-900 เมกะวัตต์ ก็จะมีการยกเลิกทั้งหมดด้วย เพื่อให้มีการยื่นเสนอขายไฟฟ้าเข้ามาใหม่ในรูปแบบฟีตอินทรารีฟแทน ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ประกอบการไม่สนใจเข้ามาลงทุน เพราะมีผลตอบแทนต่ำเพียง 13% ขณะที่รูปแบบ Adder มีผลตอบแทน 20-30 % ขณะเดียวกันการตั้งโรงไฟฟ้าจะต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือการเข้าถือหุ้นของชุมชน ตามนโยบายใหม่ของนายพงศ์ศักดิ์ หากเป็นโครงการขนาดใหญ่ 8-9 เมกะวัตต์ขึ้นไปใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 700-800 ล้านบาท ทางชุมชนคงไม่มีเงินมาร่วมลงทุนกับโรงไฟฟ้าได้ จึงเป็นอุปสรรคหนึ่งต่อการลงทุนของผู้ประกอบการ

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ 26 พ.ย. 2555

No comments:

Post a Comment