Thursday, January 17, 2013

พลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย...สู่พลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้า


พลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย...สู่พลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้า

พลังงานแสงอาทิตย์นั้นเป็นพลังงานที่เป็นต้นกำเนิดของวัฏจักรของสิ่งมีชีวิตทำให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำและธาตุต่างๆ เช่น คาร์บอน พลังงานแสงอาทิตย์จัดเป็นหนึ่งในพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพสูงสำหรับประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร และยังเป็นพลังงานที่สะอาดไม่มีอันตรายในตัวมัน ไม่ทำให้สภาพแวดล้อมเป็นพิษ ซึ่งเป็นพลังงานที่อยู่รอบๆตัวไม่ต้องไปหาซื้อหรือนำเข้าเหมือนกับพลังงานชนิดอื่นๆ  เสมือนมีแหล่งพลังงานมหาศาลที่ได้มาเปล่าๆ อีกทั้งยังเป็นพลังงานที่เกิดใหม่ได้ไม่สิ้นสุด
ทั้งนี้ยังสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หลากหลายอย่าง ซึ่งจากอดีตที่ผ่านมายังสามารถนำมาใช้ในขบวนการถนอมอาหารโดยการตากแห้ง หรือใช้สำหรับการตากเสื้อผ้าซึ่งเป็นหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนเรา  นอกจากนี้ยังสามารถนำเอาพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ได้โดยตรงที่ไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีสูงมากนัก เช่น การทำเครื่องต้มน้ำแสงอาทิตย์   การทำเตาแสงอาทิตย์หรือเตาสุริยะ  การทำเครื่องกลั่นน้ำแสงอาทิตย์ การทำเครื่องอบแห้งผลิตผลเกษตรกรรม และอื่นๆ อีกมากมาย และยังเชื่อว่าโลกในอนาคตอันใกล้นี้จะมีสิ่งประดิษฐ์จากพลังงานโซลาร์เซลล์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาตอบสนองในยุคประหยัดมากขึ้นอีกด้วย
สำหรับในปัจจุบันนั้นเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และการผลิตเป็นพลังงานความร้อน หลังจากเกิดวิกฤตด้านพลังงานเชื้อเพลิงที่มีราคาสูงขึ้น ประกอบกับพลังงานเชื้อเพลิงธรรมชาติเริ่มเหลือน้อยลง ซึ่งคาดการณ์ว่าจะใช้ได้ไม่เกิน 18 ปีข้างหน้านี้  และจากปัจจัยดังกล่าวพลังงานแสงอาทิตย์จึงเป็นพลังงานทดแทนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทย สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงการใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เพื่อรองรับการขาดแคลนพลังงานในอนาคตตามที่กูรูหรือนักวิชาการด้านพลังงานหลายคนคาดการณ์เอาไว้
และจากการยืนยันของผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานหลายท่านว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่อยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร พลังงานแสงอาทิตย์จึงเป็นพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากมีแสงแดดจ้าตลอดปีและอยู่ในปริมาณที่ค่อนข้างนาน ใน 1 วัน มีแสงแดดประมาณ 8-9 ชั่วโมง และมีแสงแดดที่เข้มข้นเพียงพอเพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 5 ชั่วโมง ถือว่ามากที่สุดในโลกประเทศหนึ่งเลยทีเดียวครับ
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้พลังงานแสงอาทิตย์ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการและนักลงทุนขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนเซลล์แสงอาทิตย์ถูกลง 2 เท่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้มีผู้สนใจจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ฟาร์มขึ้น โดยมีผู้ยื่นความจำนงจัดตั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ประมาณ 2800 เมกกะวัตต์ มากกว่าแผนถึง 6 เท่าตัวที่กระทรวงพลังงานเปิดให้สัมปทานเพียง 500 เมกะวัตต์
นอกจากนี้แล้วราคาอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีแผงโซล่าร์เซลล์นั้นมีแนวโน้มที่ถูกลงกว่าที่กล่าวมาข้างต้นอีก เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐได้ให้การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันก็มีให้เห็นแล้วสำหรับบางบริษัทที่นำเข้าเซลล์แสงอาทิตย์มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย
ประกอบกับการสนับสนุนของกระทรวงฯ ในหลายด้านที่เป็นปัจจัยเอื้อหนุนให้ผู้ประกอบการสนใจมาลงทุนมากขึ้น ซึ่งล่าสุดมีกูรูด้านพลังงานออกมาบอกว่า มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนวงเงินอุดหนุนจากระบบ Adder ในราคา 6.50 บาทต่อหน่วยเป็นระบบ Feed-in tariffs ซึ่งจะได้ในราคา 7.50 ต่อหน่วยโดยจะไม่ผูกพันกับค่า เอฟที และค่าไฟฟ้าฐานซึ่งจะคงที่ในราคานี้ตลอดระยะเวลาของโครงการซึ่งหากมีการปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนรายเล็ก รายใหญ่หันมาลงทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กันมากขึ้น
ทั้งนี้และทั้งนั้น ณ ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ประมาณ 60 เมกะวัตต์ และภายในสิ้นปีนี้บุคคลในแวดวงพลังงานบอกว่ากำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 150 เมกะวัตต์นั้นก็เนื่องจากว่าสิ้นปีจะมีโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเกิดขึ้น โรง โดยในเดือนตุลาคม 2554 นี้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่ อ.บางประอิน จ.อยุธยา จะเริ่มเดินเครื่องกำลังการผลิต38 เมกะวัตต์ และเดือนพฤศจิกายน 2554 โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ บริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด ที่ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี จะเริ่มผลิต 55เมกะวัตต์ และจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 73 เมกะวัตต์ในปีหน้า
และจากการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นคาดว่ากระทรวงพลังงานจะมีการปรับเป้าในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นซึ่งจากแผนเดิมเป้าอยู่ที่  500 เมกะวัตต์ในแผนพลังงานทดแทน 15 ปี
อย่างไรก็ตามถึงแม้ปัจจุบันราคาอุปกรณ์เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์จะมีราคาถูกลงจาก 2 ปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มที่ราคาจะลดลงอีกก็ตาม แต่ผู้ประกอบการหลายบริษัทก็ยังไม่กล้าตัดสินใจลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานโซลาร์เซลล์ เนื่องจากรอความชัดเจนของการปรับเปลี่ยนระบบการคิดค่า Adder มาเป็นระบบFeed-in tariffs พร้อมกับรอความชัดเจนในการปรับเป้าแผนการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ซึ่งหากมีการปรับเป้าเพิ่มขึ้นก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการลงทุนของภาคเอกชนได้มากขึ้น
สรุปแล้วการผลิตไฟ้ฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับประเทศไทยนั้นมีศักยภาพที่ดีพอต่อการผลิต หากรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนมากกว่าที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน โดยเฉพาะการสนับสนุนให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศให้สามารถผลิตอุปกรณ์ต่างๆได้เองโดยไม่ต้องอาศัยการนำเข้า ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ในอนาคตจะมีราคาถูกลงมากกว่าเดิม และเมื่อตลาดมีความต้องการพลังงานประเภทนี้เพิ่มขึ้นก็จะทำให้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน หรืออนาคตอาจจะเป็นพลังงานที่สำคัญมากที่สุดของการใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าเลยก็ว่าได้...ลืมคำว่าพลังงานนิวเคลียร์ไปได้เลย

No comments:

Post a Comment