Wednesday, March 13, 2013

ดร. พานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

 ข้าราชการมืออาชีพ ดร. พานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

   ในอดีตหากเป็นสามัญชนผู้รู้หนังสือมีการศึกษามักเข้ารับราชการทำงานให้กับแผ่นดิน ส่วนหนึ่งเพื่อความก้าวหน้าของตนเอง เลื่อนชนชั้นในสังคม เป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูลเมื่อได้รับบำเหน็จความชอบ ส่วนอาชีพพ่อค้ามักอยู่ในสังคมของชาวต่างชาติ โดยมีชาวอินเดียและชาวจีนเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การสืบทอดกิจการนิยมสืบทอดจากพ่อสู่ลูกเป็นปฐม ลูกหลานชาวจีนจึงมีพื้นฐานการค้าและก้าวขึ้นมากุมบังเหียนของประเทศในยุคที่ศักยภาพทางการเงินเป็นปัจจัยสำคัญในสังคม
ดร. พานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน บุตรชายของพ่อค้าชนชั้นกลางซึ่งเดินทางมาจากเมืองจีน มีความรู้มีการศึกษาในเบื้องต้นถึงระดับปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ในข่ายของบุคคลทั้ง 2 กลุ่ม คือเป็นลูกพ่อค้าวาณิชซึ่งโอกาสในหนทางธุรกิจรออยู่เบื้องหน้า และมีความรู้เมื่อกว่าสามสิบปีก่อนในสาขาอาชีพวิศวกรอันมีจำนวนไม่มากนักในประเทศ แต่เป็นเพราะข้อกำหนดในการศึกษาเช่นเดียวกับนิสิตนักศึกษาแพทย์ที่จะต้องชดใช้ทุน จึงนำมาสู่การเป็น ‘ข้าราชการอาชีพ’ ในสังกัดส่วนราชการอันเกี่ยวเนื่องกับพลังงานมาตั้งแต่ต้น
“พ่อแม่ผมมาจากเมืองจีน ทำอาชีพค้าขายแต่ไม่ถึงกับเป็นธุรกิจใหญ่โตมากนัก ครอบครัวก็ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องไปรับช่วงต่อทางธุรกิจเพราะพี่น้องก็มีที่เข้ามาทำธุรกิจ ส่วนผมและพี่ชาย (พายัพ พงศ์พิโรดม รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ก็อยู่ในแวดวงของราชการและรัฐวิสาหกิจ”
“ตอนนั้นการเรียนวิศวะเหมือนกับการเรียนแพทย์ ทางรัฐบาลกำหนดให้เสียค่าเล่าเรียนปีละ 5,000 บาท ในสมัยนั้นถือว่าเยอะนะครับ ถ้าใครไม่อยากจ่ายคืนก็ต้องมาทำงานให้หน่วยงานของรัฐ 3 ปี แต่ไม่ได้ระบุว่าสังกัดที่ไหน หลังจากผมเรียนจบแล้วก็เลือกมาอยู่ที่นี่”
“ผมเข้ามาทำงานที่กรมนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 หลังจากจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยต้องมาใช้ทุนให้กับหน่วยงานราชการ สมัยนั้นรู้จักในนาม ‘การพลังงานแห่งชาติ’ สังกัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ต่อมาเปลี่ยนชื่อหน่วยงานมาเป็น ‘สำนักงานพลังงานแห่งชาติ’ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนโอนย้ายมาสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการพลังงาน ในปี 2536 ชื่อถูกเปลี่ยนอีกครั้งเป็น ‘กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน’ ในที่สุดหลังจากปฏิรูประบบราชการก็เปลี่ยนเป็น ‘กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน’ สังกัดกระทรวงพลังงาน”
“งานหลักของหน่วยก็คือการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ผมไม่ได้เรียนมาในเรื่องพลังน้ำโดยตรง แต่โยธาก็ทำได้ แม้ว่าสายตรงที่ถูกต้องนั้นต้องเรียนไฮโดรลิค แต่ผมเลือกเรียนโครงสร้างมาก็นำมาประยุกต์ใช้ในการรับราชการ
“ครั้งแรกผมทำอยู่ในกองสำรวจ ไม่นานนักย้ายมาประจำกองวิชาการตามความต้องการของหน่วยที่รับผิดชอบโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้า ผมนั้นก็เพียงแต่อยากทำงานในด้านก่อสร้าง ตอนนั้นโครงการเยอะแยะมากครับ เขื่อนขนาดใหญ่ 20 กว่าเขื่อน ถ้าเป็นเขื่อนขนาดเล็กจำนวน 70-80 แห่ง และขนาดจิ๋วก็มีอีกเป็นจำนวนมาก สำหรับที่หน่วยเรารับผิดชอบนั้น 20 กว่าเขื่อน ต้องแบ่งงานกันว่าถ้าเป็นเขื่อนที่ผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 6 เมกกะวัตต์เป็นหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ แต่ถ้าต่ำกว่านั้นเป็นของ พพ. ถ้าเป้าหมายเพื่อการชลประทานเป็นความรับผิดชอบของกรมชลฯ ตอนหลังถึงได้ยกเลิกข้อกำหนดนี้และดูว่าหากคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์เป็นหน้าที่ของการไฟฟ้า แต่ถ้าคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจเป็นภารกิจของ พพ.”
เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปตามการผันผ่านของกาลเวลา ทำให้หลายสิ่งจำต้องแปรสภาพไปตามเหตุปัจจัยที่เข้ามากระทบ จากสำนวนโบราณที่แสดงถึงอำนาจวาสนาของการเป็นขุนนางราชการที่ว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง” อันเป็นภาพสะท้อนของยศตำแหน่งในสมัยนั้นมีค่ายิ่งกว่าทรัพย์ศฤงคาร แต่สิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้คงหนีไม่พ้นคำว่า “สิบพระยาเลี้ยงไม่เท่าหนึ่งพ่อค้า” ไปเสียแล้ว อาจเป็นเพราะสมาชิกในสังคมหันไปยึดเอาวัตถุนิยมเป็นสรณะก็เป็นได้ แต่สำหรับเขา ความหมายของ ‘ข้าราชการ’ คือการปฏิบัติงานตอบแทนคุณแผ่นดินโดยที่ตนเองไม่เดือดร้อนและไม่สร้างภาระให้กับองค์กรต้นสังกัด
“สำหรับผมตั้งแต่เรียนมานึกเสมอว่าได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ รัฐช่วยมาตลอด ถ้าจะช่วยอะไรกลับไปและคุณไม่เดือดร้อนเรื่องเงินผมว่าเป็นข้าราชการนี่แหละเหมาะสม เพราะว่าทำงานสบายแต่ต้องตรงไปตรงมา ถึงจะผิดแต่ถ้าตรงไปตรงมาก็จะมีข้อยกเว้นซึ่งคุณจะสามารถทำงานได้อย่างสบายใจ แต่ถ้าคุณยังต้องการเรื่องเงินอยู่บางทีจะทำได้ไม่เต็มที่เพราะต้องไปทำงานนอกบ้าง ผมว่าถ้าไปทำนอกเวลาก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่มันก็ทำให้คุณทำงานสองทาง สมัยก่อนผมก็ทำงานนอกเหมือนกันแต่ไม่เคยทำในเวลาราชการ เรียนจบใหม่ๆ ผมได้เงินเดือนเริ่มต้นที่ 1,250 บาท รายได้จากงานนอกไม่ค่อยได้ใช้ส่วนตัวเท่าใด ลูกน้องเยอะรายจ่ายก็เยอะ ลูกน้องประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ เราช่วยเหลือแต่เบิกไม่ได้ เพราะฉะนั้นลำพังแต่เงินเดือนไม่ได้หรอก”
“ผมอยู่ในองค์กรที่คิดว่าดี ผมก็มาตามทางของเรา ไม่ต้องไปวิ่งเต้นอะไร เติบโตมาตามสายงาน อยู่กันแบบพี่น้อง ผมคิดอยู่อย่างเดียว ทำอะไรก็ได้ที่คนอื่นไม่เดือดร้อน ไม่เอาเปรียบคนอื่น อีกอย่างคืออย่ายึดติดว่าต้องได้อะไร ให้ไปอยู่ไหนผมก็ทำ ไม่ใช่ไปอยู่แล้วบอกว่าตรงนี้ไม่ดี ไม่ทำ เราก็คิดอยู่อย่างเดียวว่า ถ้าให้เราไปอยู่ตรงไหนถ้าเราไม่ทำงานเขาก็จะบอกว่าให้งานง่ายๆ คุณยังไม่ทำเลย แล้วจะให้ดูแลงานยากๆ ได้อย่างไร”
“ผมทำไฟฟ้าพลังน้ำมาสัก 20 กว่าปี ย้ายมาอยู่เรื่องพลังงานทดแทนได้ 5-6 ปี ออกจากกรมไปปีหนึ่งคือปี 2548 ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง ปี 2549 ได้รับมอบหมายในตำแหน่งอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน แล้วจึงกลับมาที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เรียกได้ว่าอยู่กระทรวงเดิมแต่ออกจากกรมไป 2 ปี”
“ที่ทำอยู่องค์กรนี้มาตลอดไม่ได้ถึงขั้นที่ว่าติดใจ แต่เป็นเพราะว่าสิ่งแรกคือเราไม่ได้ต้องการเงินทองมากมาย มีพอใช้เราก็พอแล้ว ทำอยู่กรมนี้ดีตรงที่ไม่ใช่กรมใหญ่ ไม่ต้องทำโครงการที่ต้องใช้ประสบการณ์เยอะๆ ผมทำอยู่ไม่กี่ปีก็ได้มาดูแลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ที่นี่เป็นกรมเล็กต้องทำครบวงจรหมด ตั้งแต่ตั้งงบประมาณ ดูแลบริหารจัดการเรื่องการเงิน เรียกว่าทำทุกอย่าง ไม่ใช่แบ่งเป็นส่วนๆ
“เป็นเพราะเราได้มีโอกาสสัมผัสงานในหลายลักษณะ ที่นี่อยู่กันเหมือนพี่น้อง ผู้บริหารตรงไปตรงมา สมัยก่อนวิศวะก็มาจากที่เดียวกันคือจุฬาฯ เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันมา อธิบดีที่นี่ตั้งแต่มีมาก็เป็นวิศวะจุฬาฯ ทั้งหมด ตอนเรายังมีประสบการณ์น้อยเราทำภารกิจใดไม่ได้เขาดูแลเราอย่างดีเพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ตอนหลังนี้ก็มาจากหลายแห่ง แต่เราก็ไม่ได้แบ่งนะครับว่ามาจากสถาบันใด จากที่ต่างๆ ก็สามารถทำงานได้ดี”
โดยในปัจจุบันกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ. มีหน้าที่รับผิดชอบในการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน กำกับการอนุรักษ์พลังงาน (ภาระหน้าที่ภายใต้พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์ พ.ศ. 2535 รับผิดชอบกำกับ ดูแลส่งเสริม และช่วยเหลือให้โรงงานควบคุม และอาคารควบคุมได้ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด) จัดหาแหล่งพลังงาน วิจัยค้นคว้า และพัฒนาพลังงานทดแทนให้เป็นทางเลือกการใช้พลังงานแบบผสมผสาน พร้อมทั้งให้ความรู้ ความเข้าใจ เผยแพร่เทคโนโลยีด้านพลังงานอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง ทั้งยังติดตามประเมินผลการพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อสนองตอบความต้องการของทุกภาคส่วนอย่างเพียงพอ ด้วยต้นทุนที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศและมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
สำหรับผู้ที่คลุกคลีอยู่ในระบบปฏิบัติการอย่างใกล้ชิด เมื่อมีการปฏิรูประบบราชการในปี 2545 หน้าที่ ความรับผิดชอบ พร้อมหน่วยงานต้นสังกัดจำต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง พร้อมสิ่งใหม่ที่กรมฯ พร้อมด้วยคณะผู้ทำงานต้องสนองตอบแผ่นดินอย่างถึงที่สุด
“จนถึง ณ ตอนนี้ ภารกิจของ พพ.ไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ ตอนนั้นดูเรื่องแหล่งน้ำและการอนุรักษ์พลังงาน แต่ที่มาเปลี่ยนก็คือการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และเรื่องเขื่อนหรือฝายชลประทานก็จะได้รับคณะรัฐมนตรีเป็นโครงการๆ ไป อย่างเช่นโครงการโขง-ชี-มูล โครงการน้ำสงคราม ที่เปลี่ยนไปสำหรับผมก็คือสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและโครงการที่ได้รับเราก็ส่งต่อให้กรมชลประทานไป สำหรับเรื่องสถานีวัดน้ำเรามอบให้ทางกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อก่อนที่เราดูแลโครงการโขง-ชี-มูล โครงการลุ่มแม่โขงเรามอบให้กรมทรัพยากรน้ำไป ที่เป็นภารกิจใหม่ก็คือพลังงานทดแทนซึ่งเราทำกันมานาน 20 กว่าปีแล้ว เพียงแต่ตอนนั้นยังไม่ได้รับความสนใจ”
“เรามีพันธกิจในการพัฒนาหลายอย่าง ตั้งแต่พลังแสงอาทิตย์ ตอนนั้นลมก็ยังไม่เกิดการพัฒนา มีการใช้วัสดุอย่างขยะหรือไบโอก๊าซ หรือเตาประสิทธิภาพสูงที่ทำกันมาตลอดระยะเวลาสองทศวรรษ เพียงแต่ตอนนั้นได้งบส่งเสริมน้อย ปีละแค่ไม่เกินล้าน จนตอนหลังขึ้นมาเป็น 1,000-2,000 ล้าน ที่ขึ้นมาเป็นทวีคูณก็ช่วงประมาณ 10 ปีหลังมานี้
“สมัยก่อนน้ำมันยังไม่แพง พลังงานทดแทนต้นทุนยังสูงอยู่ อย่างแสงอาทิตย์หรือลมเราก็ศึกษาติดตามร่วมกับญี่ปุ่นบ้าง เยอรมนีบ้าง และมีอย่างหนึ่งที่คุ้มค่าก็คือก๊าซชีวภาพ แสงอาทิตย์ และน้ำร้อน หรือเตา (ถ่าน)ประสิทธิภาพสูง เตาอั้งโล่นี่เองดัดแปลงมาจากของเก่าที่กรมป่าไม้ทำ ใบหนึ่งประหยัดค่าฟืนค่าถ่านไปได้ 600 กว่าบาทต่อปี เพราะทั่วประเทศอัตราผู้ใช้เตาอั้งโล่ยังถือว่าสูงอยู่มาก”
“เราดูแลฝ่ายพลังงานทดแทนโดยเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนในประเทศจาก 0.5% ในปี 2546 ให้ได้ 8% ในปี 2554 เป็นยุทธศาสตร์ที่เสนอกับคณะรัฐมนตรีและบรรจุเป็นวาระแห่งชาติ ในเรื่องการปฏิบัติก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลยุทธศาสตร์นี้ ปัจจุบันจึงขึ้นมาถึง 3% แล้ว โดยแบ่งพลังงานทดแทนเป็น 3 ด้าน คือ ด้านหนึ่งไปผลิตไฟฟ้า อีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องความร้อนในงานอุตสาหกรรม อีกด้านก็คือเชื้อเพลิงชีวภาพ เป้าหมายเช่นการผลิตไฟฟ้าโดยการนำเซลแสงอาทิตย์ ชีวมวล ลม พลังงานน้ำ เราต้องทำให้ได้ 3,246 เมกกะวัตต์ แต่ปัจจุบันเราทำได้ 2,074 เมกกะวัตต์แล้ว เรื่องความร้อนก็จะมาเทียบกับน้ำมันดิบ เป้าหมายต้องทำให้ได้ 3,910 ktoe (ktoe คือหน่วยเทียบเท่าพันตันน้ำมันดิบ) ปัจจุบันทำได้ 1,840 ktoe แล้ว ส่วนเรื่องชีวมวลนั้นต้องทำเชื้อเพลิงเอทานอลให้ได้ 3 ล้านลิตรต่อวันในปี 2554 และไปโอดีเซลต้องได้ 4 ล้านลิตรต่อวันในปี 2554 เมื่อรวมทั้ง 3 ประเภท จึงจะได้ 8% เป้าหมายล่าสุดเราคาดว่าจะได้ถึง 8.3% เกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งพอดีกับการที่ทางกรมฯ ได้นำเอาก๊าซ NGV เข้ามาเป็นพลังงานทดแทนให้รถจึงได้เพิ่มอีก 4% ทำให้ผลทะลุเป้า”
จากสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกิดความสนใจและใส่ใจพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยการศึกษาทิศทางและทางเลือกจึงส่งผลกระทบต่อภาพรวมไม่รุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น
“เมื่อราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น การทำเอทานอล ไบโอดีเซล หรือไฟฟ้าจากชีวมวลจะสามารถแข่งขันกับน้ำมันได้ ในส่วนของเอทานอลทำจากมันสำปะหลัง ค่าวัตถุดิบรวมกับค่าการผลิตตกลิตรละ 17 บาท ถ้าเป็นเบนซินหน้าโรงกลั่นหักภาษีแล้ว 20-21 บาท ก็พอแข่งขันได้ แต่ไบโอดีเซลยังมีราคาใกล้เคียง ถ้าผลิตจากน้ำมันปาล์มราคาใกล้เคียง 20 บาท ซึ่งถือว่าราคาถูกพอที่พลังงานทดแทนจะทำการแข่งขันได้ ถ้าเป็นสมัยก่อนตอนที่น้ำมันลิตรละ 7-8 บาท ก็ไม่มีทางจะไปแข่งกับเขา ซึ่งโชคดีที่เรามีการศึกษามาก่อนหน้านี้”
“เมื่อก่อนตอนทำเอทานอลแรกๆ กากน้ำตาลตันละแค่ 600 บาท ประเทศเรากินน้ำตาลแพงกว่าต่างประเทศ น้ำตาลที่ส่งออกจะถูกกว่าเพราะฉะนั้นต้องใช้เงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลมาช่วยเหลือ กากน้ำตาลที่ส่งไปก็ขาดทุน หลังจากที่ทำเอทานอลโดยใช้กากน้ำตาลเพื่อช่วยยกระดับเกษตรกรให้ได้ราคากากน้ำตาลดีขึ้น ถ้าผลิตจากมันสำปะหลังจะแพงกว่าน้ำตาล แต่ในตอนหลังเมื่อทำการผลิตมากขึ้น รวมไปถึงราคาตลาดโลกปีสองปีที่ผ่านมาผลผลิตอ้อยน้อยลง กากน้ำตาลราคาขึ้นมาถึง 4 พันบาทต่อตัน ลองคิดดูนะครับว่าขึ้นมากี่เท่าและเป็นผลมาจากอะไร ขณะเดียวกันถึงมันจะอยู่ราคานี้แต่ต้นทุนการผลิตก็จะตกอยู่ที่ลิตรละ 20 กว่าบาท ก็ยังพอสู้ได้ เมื่อก่อนมันสำปะหลังราคาไม่ถึงบาท แต่เมื่อทำเอาทานอลผลิตจากมันสำปะหลังก็ทำให้มีราคาเพิ่มขึ้น เพราะโรงงานที่ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังจะซื้อในราคาที่สูงกว่าโรงงานที่นำไปทำแป้ง เราต้องแย่งส่วนแบ่งวัตถุดิบมา ซึ่งวัตถุดิบทั้งสองอย่างจะมีอย่างพอเพียงถ้าเราไม่ส่งออก”
สำหรับสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางกลายเป็นที่หวาดหวั่นว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลก และระบบเศรษฐกิจของชาติ แต่ในมุมของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ กลับมองเห็นเป็นโอกาสในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคตื่นตัวต่อการพัฒนาพลังงานทดแทนในระบบที่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการพึ่งพาจากภายนอกได้มากขึ้น
“หากราคาน้ำมันสูงขึ้นจะส่งผลดีต่อพลังงานทดแทน ทุกคนจะหันมาเร่งการพัฒนาในส่วนนี้ ที่พลังงานทดแทนกลายเป็นวาระแห่งชาติก็เพราะราคาน้ำมันสูงขึ้น ถ้ายังเป็นราคาไม่ถึงสิบบาทเหมือนเมื่อก่อนก็คงถูกศึกษาแล้วเก็บเอาไว้ ถามว่าดีไหมเทียบระหว่างเอทานอลกับดีเซล ถึงแม้ราคาจะเท่ากันผมก็ว่ายังน่าทำ เพราะเงินวัตถุดิบ รายได้ก็อยู่กับเกษตรกรภายในประเทศ ไม่ได้ไหลออกภายนอก”
ข้างต้นคือส่วนหนึ่งของพันธกิจหลักในการพัฒนาพลังงานทดแทน หากในส่วนของการอนุรักษ์พลังงานซึ่งเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจจากภาวะพลังงานกับการบริโภคไม่สมดุล…
“ความจำเป็นเร่งด่วนในส่วนของกรมมีอยู่ 2 ส่วน คือ พระราชบัญญัติการอนุรักษ์พลังงานปี 2535 ในส่วนของอาคารควบคุม โรงงานควบคุม สิ่งที่เป็นความจำเป็นก็คือเราอยากให้สถานที่ที่เราควบคุมให้ความร่วมมือ ปีนี้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติข้อไหนที่ปฏิบัติไม่ได้เราจะแก้ให้ปฏิบัติได้ ตั้งเป้าไว้ที่ปี 2551 โรงงานที่อยู่ในข่ายของพระราชบัญญัติต้องปฏิบัติให้ครบ 100% เพราะตอนนี้บางอย่างผู้ประกอบการไม่สามารถทำได้จริง เป็นเม็ดเงินที่ต้องลงทุน ในการปรับปรุงมาตรฐานอาคารเก่าให้ตรงตามข้อกำหนด เราจึงนำเอาการบริหารจัดการพลังงานแทนที่มาใช้บังคับ แต่สำหรับอาคารใหม่ต้องสร้างตามมาตรฐานการใช้พลังงาน และต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดการด้านพลังงาน ฉะนั้นโรงงานใหม่ถ้าสร้างตามมาตรฐานการใช้พลังงานก็ดีอยู่แล้ว เมื่อมีมาตรฐานการจัดการเข้าไป ที่เขาทำอยู่ก็คงไปตลอดมีแต่จะดีขึ้น ไม่เลวลง
“อีกอย่างหนึ่งที่ พพ.ส่งเสริมก็คืออาคารที่ไม่อยู่ในข่ายควบคุม เราก็ส่งเสริมให้เขาประหยัดพลังงานโดยใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โครงการการมีส่วนร่วมหลักใหญ่ๆ ก็คือพลังงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้ เราก็เข้าไปดู การรณรงค์ปิดไฟหรือเครื่องปรับอากาศทิ้งไว้ เมื่อทำแล้วเป็นประโยชน์อย่างมาก จึงตั้งที่ปรึกษาขึ้นมาเพื่อกำหนดเป้าหมายให้เขา ทำมาตั้งแต่ปี 2545 ประสบผลสำเร็จดีมาก ทำทั้งอาคารและโรงงานไปได้ 2,050 แห่ง โรงงานลงทุนไป 480 ล้านบาท และได้ผลประหยัดถึง 1,480 ล้านบาทต่อปี”
“โดยการทำงานของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานต้องร่วมงานกับทั้งกรมพลังงานอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า เอกชนใหญ่ๆ เช่น ซีพี โลตัส ปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งมีศักยภาพที่จะทำได้ เมื่อร่วมมือกันจึงเป็นโครงการนำร่องให้คนอื่นๆ เห็นเป็นตัวอย่าง เพราะบางอย่างมันต้องลงทุน เรามีทั้งภาคบังคับและส่งเสริม การส่งเสริมของเรามีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ช่วยยกเว้นภาษี การเปลี่ยนอุปกรณ์ในโรงงานหรืออาคารให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งมีอยู่ 2 ทางเลือกให้คือเอาภาษีหักออกจากรายได้ เช่นลงทุนไป 100 ล้าน หักภาษีได้ 1.2 เท่า แต่ต้องใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน และอีกทางหนึ่งคือ ไม่ว่าจะลงทุนไปเท่าไหร่ก่อนที่ผู้ประกอบการจะเปลี่ยนอุปกรณ์หรือกระบวนการผู้ประกอบการประหยัดไปเท่าไหร่ต่อปี รัฐจะช่วยเสียภาษีให้โดยไม่เกิน 2 ล้าน เราเริ่มทำและกำลังจะเริ่มปีที่ 2”
“เรายังไม่มีมาตรฐานการใช้พลังงานในโรงงานเพราะว่าโรงงานมันหลากหลาย มีอุตสาหกรรมหลากประเภท ตอนนี้เราจึงเปลี่ยนมาดูอุตสาหกรรมแต่ละประเภท ศึกษาการใช้เสร็จไปแล้ว 6 อุตสาหกรรมจากทั้งหมด 11 อุตสาหกรรม”
กว่าที่จะขึ้นมายืนอยู่ ณ จุดที่หลายคนมองว่าเป็นตำแหน่งที่นับหน้าถือตาของผู้คนในสังคม เป็นธรรมดาที่ต้องแลกมาด้วยหลายสิ่งหลายอย่าง และต้องทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังใจอย่างถึงที่สุด
“ไม่เคยรู้สึกท้อแท้เลยนะครับ ในส่วนที่เราดูแลได้ผมไม่กลัว ที่กลัวก็คือเราต้องไปบูรณาการตรงอื่นซึ่งเราควบคุมไม่ได้ ยกตัวอย่างการทำโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเรา รัฐบาลให้เงินเรามาแล้ว การขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าเมื่อก่อนมันช้ามาก เซ็นสัญญาแล้วก็ไม่ได้ก่อสร้าง ซึ่งอันนี้ทำให้โครงการเราล่าช้า หรือการต้องประสานงานกับหน่วยงานอื่น มันทำแบบบูรณาการแล้ว ทุกคนต้องเข้ามาหากัน มันจะเริ่มมีปัญหาแล้ว เพราะฉะนั้นถึงปัจจุบัน ปัญหาภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้มันจะน้อยมาก
“สิ่งที่ขาดในด้านพลังงานทดแทนในปัจจุบันก็คือเงินไม่พอ สองก็คือนักวิชาการด้านพลังงานทดแทนของประเทศไทยยังผลิตไม่พอ อย่างสกว. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการวิจัย) เขาจะเป็นการวิจัยขั้นพื้นฐาน แต่ของผมต้องการให้มีการวิจัยต่อยอดเพื่อนำไปใช้ได้”
“สำหรับที่ถกเถียงกันในวงกว้าง กรณีของเขื่อนอย่างเช่นที่ผมทำในโครงการโขง-ชี-มูล ส่วนตัวรู้สึกว่าดีนะ เพราะเวลาจะสู้กับพวกเอ็นจีโอ ต้องเอาความจริงเข้าสู้ บางครั้งบางคนเขาไม่ได้ฟังเหตุผล คุณพูดอะไรเขาก็ไม่เชื่อ บางคนก็ไม่ใช่คนในท้องที่ การจะทำให้เขาเชื่อมันก็ยาก เพราะบางทีการเมืองเข้าแทรก ถ้าพูดกันจริงๆ ไม่มีโครงการไหนไม่มีข้อเสีย เพียงแต่คุณต้องดูว่าเสียกับดีอันไหนมากกว่ากัน ที่เสียนี่แก้ได้ไหม ยกตัวอย่างเช่น การสร้างเขื่อน คุณมีบันไดปลาโจน ปลาจะเข้าๆ ออกๆ เหมือนเดิมก็ไม่มีทาง หรือถ้าคุณจะเอาปลามาปล่อยหน้าเขื่อนจะดีไหม มันอาจจะไม่เหมือนเดิม แต่บางคนก็จะหาเหตุให้คุณ บางคนบอกว่าสร้างเขื่อนแล้วน้ำนิ่ง ปลาไม่ได้ว่ายทวนน้ำ เนื้อยุ่ย กินไม่อร่อย ขายราคาไม่ดี ผมว่าข้างบนมันก็มีปลาเกิดใหม่เหมือนกัน เพียงแต่คุณต้องอนุมานว่ามันดีไหม
“เราทำเกี่ยวกับเรื่องแหล่งน้ำ เวลาเกิดแล้งหรือน้ำท่วมนี่ ผมไม่เห็นใครออกมาพูดเรื่องนี้เลย จริงๆ คุณต้องออกมาช่วยเขาเหมือนกัน ถึงแม้เขื่อนจะช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วมไม่ได้ 100% แต่ก็ช่วยชะลอความเสียหาย”
“ผมทำงานกับพวกนี้ ผมก็ไปคุยกันแบบจริงใจ มาเถียงกันตรงๆ เลย มันจะมีอยู่บางคนแหละ แต่เขาก็ไม่ได้มาขู่ทำร้ายเรา เพราะเกราะป้องกันตนเองอย่างหนึ่งคือไม่มีผลประโยชน์ไง เราก็ทำงานได้สบาย ไม่ต้องกลัวใครมาทำร้าย เพราะเราไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับเขา เขาก็รู้ว่าเราทำเพื่ออะไร คนที่มาต่อต้านบางทีไม่ได้เอาความจริงมาพูด แต่เราพูดความจริง ผมว่าใจเขารู้ เพราะฉะนั้นเมื่อเขารู้ว่าเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เขาก็คงไม่มายุ่งกับเรา ตั้งแต่ผมทำมายังไม่เคยถูกขู่ฆ่าหรืออะไรเลย”
ทั้งหมดทั้งมวลไม่ว่าการทำงานจะมีประสิทธิภาพเพียงใด หรือก้าวหน้าในตำแหน่งอันสูงส่งยากแก่การไต่เต้าสำหรับคนธรรมดา แต่ความสุขในการทำงานนั้นมาจากกองหลังคือครอบครัวที่เข้าใจในภารกิจของ ‘ข้าราชการ’
“ผมว่าไม่มีปัญหาเรื่องทำงาน เสาร์อาทิตย์ก็ไปทานข้าวกับครอบครัว แต่ก็แค่ไม่กี่ชั่วโมง มีบ้างนานๆ ทีอย่างช่วงปิดเทอมที่จะไปเที่ยวกับครอบครัว แต่นอกจากนั้นก็ทำงาน 5 วัน บางทีเลยไปถึง 6 วัน 7 วัน แต่อยู่บ้านเดียวกันยังไงก็เจอกันอยู่”
“ถ้าให้ผมเลือกระหว่างครอบครัวกับงาน ผมเลือกครอบครัว เพียงแต่ว่าถ้าครอบครัวเข้าใจว่าคุณมาทำงาน มันไม่ค่อยมีปัญหาอะไรหรอก บางคนที่อยากได้ตำแหน่งครอบครัวแตกแยกมีเยอะ ตัวผมเวลาทำงานกับลูกน้องถ้าลูกน้องจะลาไปเรื่องครอบครัวผมให้หมดเลย เรื่องไปงานก็เหมือนกัน ถ้างานลูกน้องผมไปทุกงาน ถ้างานผู้ใหญ่ ถ้าเขาไม่ได้ต้องการให้เราไปมากก็ไม่ไป ยกเว้นแต่ผู้ใหญ่ที่สนิท ถ้าถามผมคนที่จะทำให้คุณดี คือ ครอบครัวกับลูกน้อง เจ้านายเป็นคนที่ส่งเสริม เจ้านายดีคุณก็โชคดี”

No comments:

Post a Comment